ข่าวประชาสัมพันธ์

โครงการ “เรียนรู้วิถีชุมชนลุ่มน้ำตาปี” โดยหลักสูตรสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2558 หลักสูตรสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จัดโครงการ “เรียนรู้วิถีชุมชนลุ่มน้ำตาปี” ณ วัดบางใบไม้ ตำบลบางใบไม้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการบริการวิชาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

อาจารย์ ดร.ทวัช บุญแสง อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาสังคมศึกษา ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า หลักสูตรสาขาวิชาสังคมศึกษา เน้นการจัดการเรียนการสอนบูรณาการกับแหล่งการเรียนรู้ในชุมชนท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้นักศึกษาได้นำความรู้ที่เรียนใช้ใช้แก้ปัญหาชีวิตได้จริง เป็นการสร้างความตระหนักในความสำคัญของวิถีชุมชนท้องถิ่นตลอดจนทรัพยากรและมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อปลูกจิตสำนึกให้แก่นักศึกษาในการอนุรักษ์มรดกของท้องถิ่น “เรียนรู้วิถีชุมชนลุ่มน้ำตาปี” ได้จัดมาต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแล้ว

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้นักศึกษาได้เกิดความรักและหวงแหนในวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นของตนเอง และให้นักศึกษาได้นำความรู้ไปใช้ในการบูรณาการกับการเรียนการสอนในวิชาสังคมศึกษา ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรสาขาวิชาสังคมศึกษา จำนวน 80 โดยมีชุมชน ผู้นำชุมชม บางใบไม้ ในการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

นางสาวสุวนันท์  หมันการ ตัวแทนนักศึกษาที่เข้าร่วมกล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากโครงการฯ ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ทางด้านบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน โดยได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้นำชุมชน ทำให้นักศึกษาตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ คุณค่าของการดำเนินชีวิตในแบบชุมชนท้องถิ่น ที่มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย และรู้สึกชื่นชม ที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยการรวมตัวกันในชุมชนและนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการสร้างเสริมอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน เช่น การทำน้ำส้มจาก การทำกะปิ การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และยังมีการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการนำเสนอวิถีชีวิตเป็นเอกลักษณ์

อาจารย์  ดร.ทวัช กล่าวต่อว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ รู้สึกดีใจ ประทับใจ ในความเข้มแข็งและรัก หวงแหนในชุมชุนของชาวบ้านแห่งนี้ และในการเข้าร่วมโครงการนี้ นักศึกษาทุกคน ยังสามารถนำทักษะต่าง ๆ ทั้งทักษะความรู้ ทักษะการใช้ชีวิต แนวคิดในการอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชน ไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนบูรณาการในรายวิชาสังคมศึกษา สามารถนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้จริง และเป็นการสร้างความตระหนักในความสำคัญของวิถีชุมชุมท้องถิ่นตลอดจนทรัพยากร และมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อปลูกจิตสำนักให้นักศึกษาในการอนุรักษ์มรดกท้องถิ่น